วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552

ประเพณี ทำบุญวันเกิด และทำบุญอายุ

ประเพณี ทำบุญวันเกิด และทำบุญอายุ

ประวัติความเป็นมา

ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์ ๒ คนผัวเมีย พาลูกน้อยของตนไปหาพราหมณ์ที่เป็นสหายซึ่งถือพรตบำเพ็ญตบะ เมื่อพราหมณ์ ๒ ผัวเมียทำความเคารพ พราหมณ์ที่บำเพ็ญตบะได้กล่าวอำนวยพรว่า ” ขอจงจำเริญอายุยืนนาน” แต่เมื่อให้บุตรของตนทำความเคารพ พราหมณ์ผู้บำเพ็ญตบะหาได้กล่าวอวยพรให้ตามธรรมเนียมไม่ โดยบอกเหตุผลบอกว่า ลูกน้อยของพราหมณ์ ๒ ผัวเมียจะต้องตายภายใน ๗ วัน

พราหมณ์ผู้บำเพ็ญตบะ ได้แนะนำให้พราหมณ์ ๒ ผัวเมียพาลูกไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสแถลงเช่นเดียวกัน และแนะนำอุบายป้องกัน โดยการนิมนต์พระสงฆ์สวดพระปริตรตลอด ๗ วัน ซึ่งพราหมณ์ทั้งสองก็กระทำตาม

ครั้นถึงวันที่ ๗ พระพุทธองค์เสด็จไปด้วยพระองค์เอง ทำให้ยักษ์ผู้ได้รับพรมาเพื่อฆ่ากุมารไม่อาจทำอันตรายพระกุมารนั้นนอนฟังพระปริตรอยู่ ด้วยพุทธานุภาพประกอบกับอายุไม่ถึงการดับแห่งขาร ทำให้ทารกนั้นรอดพ้นอันตราย และมีอายุยืนยาวถึง ๑๒๐ ปี

พิธีทำบุญวันเกิด และพิธีทำบุญอายุนั้น จัดขึ้นเพื่อความต้องการความสุขสวัสดีมีอายุยืนยาวเจริญวัฒนาต่อไปในภายภาคหน้า ส่วนใหญ่หากเป็นการทำบุญวันครบรอบวันเกิด โดยทั่วไปก็ไม่ค่อยจัดใหญ่โตอะไรนัก แค่ทำบุญตักบาตรพระในตอนเช้า หรือถวายภัตตาหารพระที่วัด เสร็จแล้วจึงถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามศรัทธา เมื่อพระสวดเจริญพระพุทธมนต์ให้พร อนุโมทนา และ กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ก็เป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับการทำบุญอายุ นิยมจัดเป็นงานใหญ่กว่าการทำบุญวันเกิด โดยทั่วไป เมื่ออยู่ในช่วงที่มีอายุเบญจเพส คือ ๒๕ ปี หรือช่วงที่มีอายุกลางคน คือ ๕๐ ปี หรือทำเมื่อครบรอบทุกๆ ๑๒ ปี ซึ่งมักนิยมทำกันเมื่อครบ ๕ รอบ คือ ๖๐ ปี และ ๖ รอบ คือ ๗๒ ปี

สาเหตุที่นิยมทำเมื่ออายุครบ ๒๕ ปี เพราะวัยเบญจเพสเป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จากวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ส่วนทำเมื่อครบ ๕๐ ปีนั้น เพราะถือว่าอายุยืนยาว มาได้ครึ่งหนึ่งของชีวิตแล้ว จึงควรทำบุญและเลี้ยงฉลอง แสดงความยินดี

พิธีการทำบุญอายุ
เมื่อจะทำบุญอายุ ให้จัดเตรียมสถานที่และนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญ พระพุทธมนต์ โดยให้โหรเป็นผู้กำหนดฤกษ์และมาเป็นผู้ประกอบพิธี การนิมนต์พระต้องนิมนต์ให้มากกว่าอายุ ๑ องค์ เช่น อายุ ๒๕ ก็ให้นิมนต์ ๒๖ องค์ หรือนิมนต์เพียง ๙ องค์เท่าจำนวน ดาวนพเคราะห์ก็ได้ และเป็นการสะดวกต่อการจัดสถานที่การทำพิธีด้วยประการทั้งปวง

สิ่งของที่ต้องเตรียม
ให้เตรียมเทียนขี้ผึ้งอย่างดีไว้ ๒ เล่ม เล่มหนึ่งหนัก ๙ บาท ไส้ยาวโดยวัดรอบศีรษะของเจ้าภาพจำนวน ๓๓ เส้น อีกเล่มหนึ่งมีขนาดสูงเท่าตัวเจ้าภาพ หนักเท่าอายุ ไส้ทำเท่าอายุ คือ อายุ ๒๕ ก็ทำ ๒๕ เส้น เทียนนี้จะต้องจัดทำด้วย ความประณีต หาที่บังลมให้ดี เมื่อจุดแล้วอย่าให้ลมพัดดับหรือล้มได้

นอกจากนี้ยังให้เตรียมผ้าขาวนุ่ง ๑ ผืน ทำบัตรพลีเทวดาเป็นบัตร ๙ ชั้น ๑ บัตร (เป็นบัตรพลีพระเกตุ) และ ๓ ชั้น ๘ บัตร (ตั้งเป็นบัตรพลีเทวดาประจำทิศต่างๆ รวม ๘ ทิศ) ฉะนั้นบัตรพลีต้องมี ๙ บัตร ทำด้วยกาบกล้วย ติดธงสีประจำวันเทวดา มีรูปเทวดาบัตรละองค์ ใส่ขนมอาหารหวานคาว รวมทั้งข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน จัดประดับให้สวยงาม (ส่วนใหญ่ผู้รับทำพิธีจะเป็นธุระจัดหาและตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญๆ ให้เอง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น